Monday, March 21, 2022

The Adam Project แม่และลูกชาย ภาพสะท้อนตัวตนในหนังเดินทางข้ามเวลา

การเดินทางข้ามกาลเวลา เป็นหนึ่งในพล็อตไซไฟยอดฮิตที่ไม่ว่าจะหนังหรือซีรีส์ ล้วนตกหลุมรักในปริศนาที่ยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถเป็นไปได้หรือเกิดขึ้นจริง แต่หลากหลายความเป็นไปได้ ก็ทำให้มนุษย์เชื่อว่าสักวันหนึ่งการเดินทางข้ามกาลเวลาจะเกิดขึ้นได้จริง และ The Adam Project ได้หยิบเอาธีมดังกล่าวมาใช้สอยอีกครั้งในฐานะหนังครอบครัว

อดัม รี๊ด (ไรอัน เรย์โนลส์) หลังจากที่เขาถูกไล่ล่าจากโลกอนาคตในปี ค.ศ.2050 เขาได้ตัดสินใจจะย้อนเวลากลับไปในปี  ค.ศ.2018 เพื่อกลับไปช่วยแฟนสาวที่เกิดหายตัวไป แต่ด้วยความผิดพลาด ทำให้อดัมย้อนกลับไปในปี ค.ศ.2022 ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางกลับไปยังที่บ้านของตัวเอง เขาได้พบกับอดัมในวัยเด็กอายุ 12 ปี (วอล์กเกอร์ สโคเบลล์) และทำให้เขาต้องร่วมมือกับตัวเองเพื่อกอบกู้อนาคต รวมไปถึงช่วยเหลือแฟนสาวของเขาอีกด้วย

อดัม ในวัย 12 ปี ปากดี ปากแจ๋วราวกับเป็นร่างอวตารของไรอัน เรย์โนลส์ ชนิดถอดพิมพ์เดียวกันมาเป๊ะ สำเนาถูกต้อง เขากำลังต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากหลังจากสูญเสียพ่อ (มาร์ค รัฟฟาโล่) ไปเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เขาต้องอยู่กับแม่แอลลี่ รี๊ด (เจนนิเฟอร์ การ์เนอร์) ที่ต้องคอยลางานมาเข้าห้องปกครอง หลังจากอดัมมักจะมีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนจนต้องโดนพักการเรียน

เป็นอีกครั้งที่อดัมในวัยผู้ใหญ่ (ที่เข้าใจโลกมากขึ้น) กล่าวกับแม่ว่า บางครั้งวัยรุ่นมักจะเห็นคนเป็นแม่เป็นเหมือนที่ระบาย เป็นกระสอบทราย แต่ท้ายที่สุดแล้วลูกชายจะกลับมาหาแม่เสมอ “คุณมีแม่ที่ดีนะ” แอลลี่ กล่าว “ใช่แล้วครับ ผมมีแม่ที่ดีที่สุด” อดัมตอบ วินาทีนั้นแอลลี่อาจจะรู้สึกว่าเธอได้คุยกับผู้ชายคนหนึ่งที่เคยผ่านเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับชีวิตของเธอ แต่สำหรับอดัมแล้ว สิ่งที่เขาได้คุยกับแอลลี่เป็นทั้งคำขอโทษและคำปลอบประโลมแม่ของเขาเอง ว่าในอดีตที่ผ่านเลยมาสิ่งที่เขาเคยทำกับแม่นั้น ในวันนี้เขาทั้งรู้สึกผิดและเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น เขา “พลาด” อะไรในชีวิตไป

ในแววตาของอดัมในวัยผู้ใหญ่ เขาได้เรียนรู้ว่าบางครั้งการเติบโตนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้มแข็งและสามารถรับมือได้กับทุกเรื่องเสมอไป เมื่อถึงจุดที่เรา “ไม่ไหว” การแสดงออกก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรสื่อสารออกไปเช่นกัน

ท่ามกลางบริบทของการเป็นหนังไซไฟเดินทางข้ามกาลเวลา มีฉากแอ็คชั่นโครมครามระหว่างทาง แต่สิ่งที่น่าประทับใจและทำให้เรามองเห็นความสัมพันธ์ของตัวละครระหว่าง “แม่และลูกชาย” โดยเฉพาะในช่วงเวลาครึ่งแรกของเรื่อง ได้ทำให้เราเชื่อเหลือเกินว่า ทำไมเมื่อวันหนึ่งอดัมได้กลายเป็นหนุ่มแน่น เสน่ห์ของเขาที่ทำให้ลอร่า (โซอี้ ซัลดาน่า) ตกหลุมรักนั้น ไม่ใช่แค่เพราะว่าเขาหล่อ คารมดี แต่ภายใต้คำพูดเพียงไม่กี่คำนั้น สามารถจับใจความได้ไม่ยากเย็นนักว่าผู้ชายคนนี้ “ใส่ใจ” และ “เอาใจใส่” กับคนฟังมากแค่ไหน ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความรักและความอบอุ่นที่อดัมในวัยเด็กเคยได้รับมาจากแม่ของเขา โดยที่ตัวเองยังไม่เคยรู้ตัวเลยก็ตาม ถ้าไม่เชื่อลองย้อนกลับไปเปิด The Adam Project กันอีกสักหน เผื่อทำอะไรตกหล่นไประหว่างทางในรอบแรกนะ

สนับสนุนข้อมูลโดย แนะนำหนังการ์ตูนแอนิเมชั่น

No comments:

Post a Comment

ออสการ์ 2023: “มิเชล โหย่ว” ผู้หญิงเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลนักแสดงนำหญิง

มิเชล โหย่ว (Michelle Yeoh) สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับเวทีออสการ์ ด้วยการเป็นนักแสดงเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลนักแสดงนำหญิงบนเวที...